การลิดรอนสิทธิในการสื่อ สารคือเผด็จการ

โดย ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รัฐบาลอาจจะมีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินการปิดเว็บไซต์ 36 แห่งตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 และออกประกาศของกระทรวง ICT เมื่อ 12 เมษายน 2553 ห้ามเผยแพร่ภาพและวิจารณ์การใช้กำลังทหารติดอาวุธสงครามสลายการชุมนุมจนเป็น เหตุให้มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน 2553  แต่สิ่ง ที่รัฐบาลกำลังทำเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง การกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์กำลังเป็น รัฐบาลเผด็จการ โดยมิได้ตระหนักว่าผลของการใช้อำนาจเผด็จการนี้จะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง ที่ขยายวงกว้าง และฝักรากลึกยืดเยื้อในสังคมไทยไปอีกนาน กล่าวคือ
ประการแรก การที่รัฐบาลเน้นปิดกั้นข่าวสารในโลกอินเทอร์เน็ต ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโลกอินเทอร์เน็ตต่อสังคมปัจจุบัน ที่อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวัน คนใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนรู้ เพื่อการแสดงออกทางความคิด เพื่อการสร้างสรรค์อัตลักษณ์ เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โดยสรุปแล้วคือคนใช้อินเทอร์เน็ตสร้างสรรค์สังคม ทั้งสังคมในชีวิตประจำวันและสังคมในอุดมคติ
ในระบอบประชาธิปไตย หากรัฐบาลเห็นว่ากิจกรรมใดๆ ที่เว็บไซต์เหล่านั้นกระทำเป็นการละเมิดกฎหมาย รัฐบาลก็สามารถใช้กระบวนการยุติธรรม เพื่ออาศัยอำนาจศาลในการปิดเว็บไซต์เหล่านั้น การอาศัยอำนาจศาลนับได้ว่าเป็นวิธีควบคุมการละเมิดกฎหมายอย่างถูกต้องและชอบ ธรรมในระบอบประชาธิปไตย
แต่การปิดกั้นการสื่อสารด้วยอำนาจทางการบริ หาร ด้วยการอ้าง พรก. ฉุกเฉินซึ่งให้อำนาจรัฐบาลอย่างล้นพ้นเกินการตรวจสอบได้เพื่อการปิดกั้นข่าว สาร ไม่แตกต่างจากการเอากระบอกปืนมาจ่อหัวไม่ให้คนพูดคุยถกเถียง การปิดเว็บไซต์ของรัฐบาลเป็นการละเมิดสิทธิการติดต่อสื่อสารและการสร้าง สรรค์สังคมของประชาชนอย่างร้ายแรง รัฐบาลกำลังวิสามัญฆาตกรรมการสื่อสารของผู้คนในสังคมโดยไม่ผ่านกระบวนการ ยุติธรรม
ประการที่สอง รัฐบาลอาจมองว่าการปิดเว็บไซต์เป็นวิธีการที่ถูกต้องในการระงับความขัดแย้ง ในปัจจุบัน แต่รัฐบาลต้องศึกษาให้เข้าใจว่าความขัด แย้งนี้ผังรากลึกในสังคมไทยมายาวนานกว่าการชุมนุมที่เพิ่งผ่านมาเพียงเดือน หนึ่งนี้
ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้มิใช่ความขัดแย้งทางการเมืองในระยะ สั้น รัฐบาลควรศึกษาให้เข้าใจว่าความขัดแย้งนี้ยืดเยื้อมาเป็นทศวรรษแล้ว การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันเป็นผลมาจากการที่ประชาชนส่วนหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่าพวกเขาถูกทำให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสองต่อเนื่องมาตั้งแต่ หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนกลายมาเป็นสำนวนเรียกตนเองว่า “ไพร่” ส่วนปัญหาระยะยาวยิ่งกว่านั้น รัฐบาลนี้คงพอรู้อยู่บ้างว่าผู้คนในสังคมไทยตกอยู่ในภาวะของความไม่เท่า เทียมกันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมายาวนานและฝังรากลึกเพียงใด
การปิดกั้นข่าวสาร ปิดกั้นการสื่อสารในสื่อทางเลือก จะยิ่งทำให้กลุ่มคนที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยช่องทางการสื่อสารทั่วไป รู้สึกถึงการถูกกดทับให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง ตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันในสังคมมากยิ่งขึ้น
ประการที่สาม การปิดกั้นการสื่อสารนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีกรอบความเข้าใจ เรื่องการสื่อสารอย่างคับแคบและดูถูกประชาชน ในขณะนี้รัฐบาลกำลังมุ่งสื่อสารกับประชาชนเพียงด้านเดียว สื่อหลักที่รัฐบาลใช้คือ “ฟรีทีวี” ซึ่งอยู่ในการควบคุมของรัฐทั้งหมด รัฐบาลอาจคิดว่าการสื่อสารผ่านทีวีเหล่านี้มีต้นทุนต่ำและได้ผลสูง รัฐบาลมีความเชื่อว่า ประชาชนจะเชื่อฟังข่าวสารที่รัฐบาลนำเสนอด้านเดียวอย่างเชื่องๆ
แต่รัฐบาลหารู้ไม่ว่าพฤติกรรมการบริโภคสื่อใน ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ฟรีทีวีเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในหลายๆทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นเคเบิลทีวีหรือจานดาวเทียม ตลอดจนหนังสือพิมพ์และสื่อทางเลือกต่างๆในอินเทอร์เน็ต ดังนั้นจึงมีเพียงคนที่สนับสนุนรัฐบาลหยิบมือเดียว ที่พร้อมจะเชื่อและรับรู้ข่าวสารผ่านทางฟรีทีวี ส่วนประชาชนผู้ตื่นตัวทางการเมืองจำนวนมากจะหันไปหาสื่อทางเลือกอื่นๆเพื่อ รับรู้ข่าวสารมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เพียงรัฐบาลจะไม่สามารถโน้มน้าวให้คนเชื่อในสิ่งที่รัฐบาลนำเสนอ ผ่านฟรีทีวีเท่านั้น แต่สื่อทางเลือกอื่นๆจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำเสนอข่าวสารที่ให้แง่มุมที่แตกต่างจากที่รัฐบาลเสนอ
ประการสุดท้าย การปิดกั้น ข่าวสารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้ได้เลยแม้แต่น้อย แต่กลับจะขยายวงของความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น ทำให้กลุ่มคนที่อยู่ตรงกลางๆ หรือไม่ได้ “เป็นแดง” กลับถูกผลักหรือต้องเดิน “เส้นทางสายแดง” มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ต่างอะไรกับ “การเข้าป่า” เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งการเข้าป่าเป็นเส้นทางที่นักศึกษาหลายคนเลือกเดินโดยมิได้มีใจเป็น คอมมิวนิสต์มาก่อน
หนทางในการ “ลงใต้ดิน” ของชุมชนในอินเทอร์เน็ตนั้นมีได้หลายทาง คนในโลกอินเทอร์เน็ตเห็นการปิดกั้นข่าวสารในโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องน่า ขัน เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะสามารถสร้างทางลัดทางลอด ก้าวข้ามการปิดกั้นควบคุมของรัฐได้เสมอ การที่เว็บไซต์บางเว็บมิได้หลีกลี้จากอำนาจรัฐแต่ต้น มิได้หมายความว่าเว็บไซต์เหล่านั้นไม่รู้ทางเลี่ยง หากแต่พวกเขาต้องการดำเนินการอย่างโปร่งใส อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐไทยและพร้อมรับการตรวจสอบการละเมิด
แต่หากรัฐบาลผลักไสให้เว็บไซต์เหล่านี้ลงใต้ ดินเสียแล้ว กฎหมายของรัฐไทยก็จะไร้ความหมาย และการละเมิดและผลของการละเมิดกฎหมายก็จะรุนแรงยิ่งกว่า ในอนาคตอันใกล้ เชื่อได้ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์จะไม่สามารถรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการต่อต้าน ของชุมชนอินเทอร์เน็ตได้
กล่าวโดยสรุป หากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไม่ตระหนักถึงประเด็นต่างๆ ข้างต้น แต่กระทำการใดๆ เพียงเพื่อรักษาอำนาจของตนและพวกพ้อง นายอภิสิทธิ์และพวกพ้องก็จะยังคงดำรงอำนาจอยู่ได้ด้วยข้ออ้างทางกฎหมายอย่าง แน่นอน แต่ทว่า นายอภิสิทธิ์จะได้รับการตีตราว่าเป็นเผด็จการผู้ สร้างความขัดแย้งยืดเยื้อในสังคมไทยตลอดไป

ข่าวจาก

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1271432655&grpid=01&catid=


<!–

–>