วิปโยค 10 เม.ย. 2553

วัน พุธ ที่ 14 เมษายน 2553 เวลา 1:00 น

ข่าวจาก เดลินิวส์ออนไลน์

บาดเจ็บล้มตาย ‘ใครได้??’ ไทยเสีย

“เสียชีวิต 21 บาดเจ็บ 858” …คือตัวเลขที่ปรากฏในรายงานข่าวของสื่อแขนงต่าง ๆ ณ วันที่ 12 เม.ย. 2553 เป็นตัวเลข “ความสูญเสีย” ที่ “สั่นคลอนประเทศไทย” หลังรัฐบาลใช้กำลังทหารปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” จากคนเสื้อแดงที่ชุมนุมกันอยู่ ณ บริเวณสะพานผ่านฟ้าและพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อ 10 เม.ย. แล้วทางคนเสื้อแดง “ไม่คืนพื้นที่” จนเกิดการ “ปะทะ” ตามมาด้วยการบาดเจ็บล้มตายทั้งประชาชน-ทหาร…อย่างมีปริศนา ซึ่งคนเสื้อแดงก็กล่าวหาว่ารัฐบาล-ทหารทำ ? รัฐบาล-ทหารก็โต้ว่าผู้ที่ทำคือกลุ่มคนที่แฝงอยู่ในม็อบเสื้อแดง ?

ถึงวันนี้ก็ไม่รู้ว่า  “ตัวเลขสูญเสีย” เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ ?

ที่แน่ ๆ คือ “แม้แต่เลือดหยดเดียวก็ไม่ควรสูญเสีย !!”

“ขอแสดงความเสียใจกับการสูญเสียที่เกิดขึ้นในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของผู้สูญเสียชีวิต…” …นี่เป็นเนื้อความส่วนหนึ่งจากการแถลงการณ์ช่วงดึกวันที่ 10 เม.ย. 2553 ของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บุคคลซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่า…เป็น ผู้ที่ “ถูกอุ้มสมขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี”

“ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ถึงการเสียชีวิตของพี่น้อง ชาวไทยร่วมชาติ ที่ต้องมาเสียชีวิตจากการเรียกร้องประชาธิปไตย อย่างสันติ อหิงสา และพี่น้องทหารที่ชีวิตต้องมาจบลง…” …นี่เป็นเนื้อความส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ข้ามชาติ ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร บุคคลซึ่งเป็นที่ทราบกันดีทั่วไป ไม่เพียงในประเทศไทย แต่รวมถึงในต่างประเทศ ว่า…เป็นผู้ที่ “มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดง” ในการขับไล่รัฐบาล-เรียกร้องให้มีการ ยุบสภา แม้ว่าจะพำนักอยู่ในต่างประเทศ

ทั้งอภิสิทธิ์-ทั้งทักษิณ…ต่างก็ “แสดงความเสียใจ”

แต่ยังไงก็ “หลังเหตุการณ์น่าเสียใจเกิดไปแล้ว !!”

ทั้งนี้ กับชีวิตที่ต้องสูญเสียไป ทั้งที่ตาย-ทั้งที่เจ็บ ไม่ว่าจะ เป็นประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทหาร จะเพราะมือที่ 1 มือที่ 2 มือที่ 3  มือที่ 4 มือที่ 5 ฯลฯ ก็ว่ากันไป ที่แน่ ๆ คือ…ทั้งหมดทั้งมวลมี รากเหง้าจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมานาน ไม่ใช่เพิ่งจะ มาเกิดในปีนี้ แต่ย้อนไกลไปตั้งแต่ก่อนหน้าเกิดรัฐประหารรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 19 ก.ย. 2549 และก่อนจะมาถึง “วันวิปโยค 10 เม.ย. 2553” ก็เคยสูญเสียกันไปแล้วส่วนหนึ่ง

กับปรากฏการณ์ความขัดแย้งแบ่งสีที่นำมาซึ่งความสูญเสียนี้ ก่อนหน้านี้ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ได้เคยสะท้อนบทวิเคราะห์ชวนคิด หัวข้อ “สงครามกลางเมือง – ความแตกแยกของคนในชาติ – ฉากทัศน์แห่งความรุนแรงที่ไม่อยากให้ไปถึง” จากเว็บไซต์ ทอทหาร เว็บไซต์ http://tortaharn.net

เนื้อหาที่บทวิเคราะห์ดังกล่าวนี้ระบุไว้ บางช่วงบางตอนคือ… “รากเหง้าของปัญหา เป็นสิ่งที่ก่อตัวมาระยะหนึ่ง และสะสมสลับซับซ้อน ยากที่จะสามารถตอบได้ว่ารากของปัญหาจริง ๆ เกิดขึ้นมา จากเหตุใดเหตุหนึ่งเหตุเดียว ทำให้การหาแนวทางแก้ไขเป็นเรื่องยากที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง…

ความจริงแล้วการมองปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดนั้น หากเข้าใจธรรมชาติของปัญหาแล้วจะพบว่า ความวุ่นวายทั้งหมดนี้เกิดมาจาก ปัญหาของชนชั้นนำที่มีความขัดแย้งกัน ??”

“ชนชั้นนำ” ที่บทวิเคราะห์นี้ระบุถึง มีการแบ่งเป็น 2 ฝ่ายหลัก  ฝ่ายหนึ่งใช้คำเรียกว่าฝ่ายอนุรักษ์หรือ “กลุ่มทุนเก่า” และอีกฝ่ายหนึ่ง ใช้คำเรียกว่าฝ่ายก้าวหน้าหรือ “กลุ่มทุนใหม่” โดยมีการระบุว่า…..

แต่ละฝ่ายต่างต้องการที่จะมีอำนาจปกครอง บริหารประเทศ  นั่นคือการเป็นรัฐบาล ซึ่ง แต่ละฝ่ายก็จะใช้วิธีดำเนินการ และ เครื่องมือที่ตนมี เป็นแนวทางในการดำเนินไปสู่อำนาจ เพื่อที่จะใช้ อำนาจในการดำเนินการเรื่องต่าง ๆ อาศัยอำนาจเป็นสิ่งคุ้มครอง และ เป็นความชอบธรรม ในการทำในสิ่งที่ต้องการ

ประเด็นคือ… ในขณะที่กลุ่มทุนเก่ามีอำนาจทางการบริหาร ก็ใช้อำนาจ “ใช้เจ้าหน้าที่รัฐ” เพื่อสร้างเสถียรภาพ ขณะที่กลุ่มทุนใหม่ที่เสียอำนาจไปก็ต้องเลือก 1 ใน 2 แนวทางการคืนอำนาจ คือ รอการแข่งขันเลือกตั้ง หรือ ล้มล้างรัฐบาล ซึ่งก็ชัดเจนว่ามีการเลือก ใช้วิธีหลัง โดย “ใช้ประชาชน” ช่วย

ทั้งนี้ จากบทวิเคราะห์ที่ใครจะเห็นพ้อง-เห็นต่างก็ย่อมสุดแท้แต่ หันดูสถานการณ์จริง กรณีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิต ทั้งของประชาชน-เจ้าหน้าที่ ต่อให้มี “มืออำมหิต” สอดแทรกเข้ากระทำ การ แต่กระนั้น…การปฏิบัติการของฝ่ายรัฐบาลผนวกกับการตอบโต้ของฝ่ายคนเสื้อแดง เป็นการ “เปิดช่อง” ใช่หรือไม่ ??

ใครบ้าง ?? ที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อเหตุ “วันวิปโยค 10 เม.ย. 2553” ก็คงอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ดี ท่ามกลางภาพโศกนาฏกรรมอีกครั้งของชาติไทย ยังมีภาพคนเสื้อแดงช่วยเหลือ ทหารที่บาดเจ็บ และมีภาพทหารช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บ นี่ย่อมบ่งชี้ว่าการกลับมามี “สันติสุข” ของชาติไทย “ยังมีความหวัง” และการป้องกันมิให้เหตุวิปโยคเกิดซ้ำขึ้นอีก ก็น่าจะทำได้ ด้วย “ชน ชั้นนำ” แต่ละฝ่าย !!

อยู่ที่ “การเสียใจจริง” ต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นไปแล้ว

อยู่ที่ “ความจริงใจ” ที่จะมิให้เกิดสูญเสียขึ้นอีก ?!?!?.