จากหนังสือพิมพ์ โลก วันนี้
ปีที่ 11 ฉบับที่ 2795 ประจำวัน พุธ ที่ 12 พฤษภาคม 2010
โดย –

พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้มครอง ป.ป.ช.ชี้เอาผิด“มาร์ค-สุเทพ”สลาย ม็อบไม่ง่าย

กรรมการ ป.ป.ช. เบรกตำรวจ ดีเอสไอ สอบเอาผิด “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ระบุเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. แต่การจะเอาผิดก็ไม่ง่ายเพราะมีรายละเอียดแตกต่างจากคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศใช้ให้ความคุ้มครองการทำงานอยู่ แกนนำเสื้อแดงมีมติไม่ยอมรับ “สุเทพ” เข้าพบดีเอสไอเพราะไม่ได้ไปในฐานะผู้ต้องหา ชี้เล่นละครแหกตาเพราะยังไม่มีมติยกเป็นคดีพิเศษ รอวัน “สุเทพ” ตกเป็นผู้ต้องหาจึงยุติการชุมนุม “เฉลิม” งงทำไมเจ้าหน้าที่ดีเอสไอต้องตั้งแถวรอต้อนรับรองนายกฯ เตือน “ธาริต” ระวังปากพูดเรื่องคดีมากอาจติดคุกได้
วันที่ 11 พ.ค. 2553 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้เข้าพบอธิบดีดีเอสไอเพื่อรับทราบข้อร้องทุกข์ของญาติผู้เสียชีวิตจาก เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา
นายสุเทพให้ สัมภาษณ์หลังการรายงานตัวว่า ต้องการแสดงเจตนารมณ์พร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามแผนปรองดอง ส่วนที่แกนนำคนเสื้อแดงต้องการให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่กองปราบปรามนั้น เป็นการตั้งแง่เพื่อยื้อการชุมนุมไปเรื่อยๆ
ญาติไปร้องดีเอสไอก็ ต้องไปดีเอสไอ
“ในเมื่อญาติผู้ตายไปร้องทุกข์เอาไว้ที่ดีเอสไอผม ก็ต้องไปที่ดีเอสไอ” นายสุเทพกล่าวและว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการตามแผนปรองดองครบหมดแล้ว หากผู้ชุมนุมยังไม่เลิกชุมนุมก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งอยากให้ผู้ชุมนุมที่มาด้วยความบริสุทธิ์ใจ เรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องความเป็นธรรมเดินทางกลับบ้าน เพราะรัฐบาลได้ตอบรับแล้วว่าจะมีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ส่วนผู้ชุมนุมที่ไม่บริสุทธิ์ใจ มุ่งสร้างปัญหาให้ประเทศก็ต้องจัดการด้วยความเข้มแข็ง
ยันพบดีเอส ไอไม่ได้แสดงละคร
ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้มครองการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่ง และอาญา การไปรายงานเป็นการแสดงละครหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ใช่
นาย ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า คดีสั่งสลายการชุมนุมถือเป็นคดีพิเศษที่สมบูรณ์แล้ว เพราะมีญาติผู้เสียชีวิตมาร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ การที่นายสุเทพมารับทราบข้อร้องทุกข์เป็นเรื่องดีทำให้ไม่จำเป็นต้องออกหมาย เรียก ส่วนที่คนเสื้อแดงมองว่ามีส่วนได้เสียกับคดีเพราะร่วมเป็นกรรมการ ศอฉ. ด้วยนั้น ขอยืนยันว่าดีเอสไอจะทำคดีอย่างตรงไปตรงมา
ป.ป.ช. เบรกตำรวจ-ดีเอสไอสอบสลายม็อบ
นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ตำรวจและดีเอสไอไม่มีอำนาจสอบเอาผิดนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจ หน้าที่โดยมิชอบ เพราะอำนาจนั้นเป็นของ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม ป.ป.ช. จะต้องดูสำนวนก่อน หากเห็นว่าดีเอสไอทำหน้าที่ได้ดีกว่าก็จะมีมติมอบคดีให้ดีเอสไอรับไปดำเนิน การ ส่วนที่ตำรวจบอกว่าส่งสำนวนมาให้ ป.ป.ช. แล้วนั้น ขณะนี้ยังไม่มีกรรมการ ป.ป.ช. คนใดเห็นสำนวนของตำรวจ น่าจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่
พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุ้ม ครองเอาผิดไม่ง่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะนำไปเทียบเคียงกับคดีสลาย การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือไม่ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า เอาไปเทียบเคียงกันไม่ได้ แม้คดีจะมีฐานความผิดเดียวกันแต่ไม่จำเป็นต้องมีบทลงโทษเหมือนกัน เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีข้อกำหนดคุ้มครองการทำงานเอาไว้ ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องนี้ด้วย
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน แถลงหลังการประชุมแกนนำว่า นปช. ต้องการความชัดเจนเกี่ยวกับการเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพมากกว่านี้
นปช. ไม่ยอมรับ “สุเทพ” พบดีเอสไอ
“นปช. ไม่ยอมรับการเดินทางไปดีเอสไอของนายสุเทพ เพราะไม่ได้ไปในฐานะของผู้ต้องหา แต่ไปเพื่อลงนามรับทราบข้อคำกล่าวโทษร้องทุกข์เท่านั้น” นายณัฐวุฒิกล่าวและว่า ตามขั้นตอนของกฎหมายดีเอสไอยังไม่มีอำนาจหน้าที่ในการทำคดีสั่งฆ่าประชาชน เพราะคดีนี้คณะกรรมการคดีพิเศษยังไม่ได้มีมติรับเป็นคดีพิเศษ ยังไม่มีการประกาศขั้นตอนดำเนินการเอาไว้ในประกาศของดีเอสไอแต่อย่างใด เมื่อเราไม่สามารถยอมรับการเดินทางไปดีเอสไอของนายสุเทพได้ก็ต้องรอความ ชัดเจนต่อไป
ต้องไปในฐานะผู้ต้องหาจึงยอมรับ
เลขาธิการ นปช. ย้ำว่า ผู้ชุมนุมยอมรับแผนสร้างความปรองดองและกำหนดการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ย. แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรอความชัดเจนกรณีของนายสุเทพที่ต้องเข้าสู่กระบวนการ ยุติธรรมอย่างเสนอภาคกับแกนนำด้วย ทันทีที่นายสุเทพไปพบดีเอสไอหรือตำรวจในฐานะผู้ต้องหาเราจะยุติการชุมนุม
นาย ขวัญชัย ไพรพนา แกนนำ นปช. กล่าวว่า มีกลุ่มผู้หวังดีไม่ต้องการให้เรื่องจบ ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง อาจสร้างสถานการณ์ด้วยการทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุม
เสนอตั้งกรรมการ ตรวจพื้นที่ชุมนุม
“หากไม่มีปัญหาอะไรน่าจะกลับบ้านได้ แต่ต้องรอให้นายสุเทพไปมอบตัวที่กองปราบปรามก่อน และก่อนที่จะกลับรัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อน เพราะถ้ายังไม่ยกเลิกแกนนำจะไม่ปลอดภัย ที่สำคัญต้องมีการตั้งกรรมการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ชุมนุมก่อน เนื่องจากเกรงว่าเมื่อเรากลับไปแล้วจะมีการนำมาอาวุธมายัดข้อกล่าวหาให้ผู้ ชุมนุม เพราะทราบมาว่ารัฐบาลจะตั้งข้อกล่าวหาก่อการร้ายกับผู้ชุมนุมอีกกว่า 500 คน” นายขวัญชัยกล่าวและว่า ไม่คิดขึ้นมาเป็นแกนนำคนเสื้อแดงตามที่มีกระแสข่าว
“กี้” เล็งบวชให้ผู้เสียชีวิต
นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช. กล่าวเช่นกันว่า ไม่รับเป็นแกนนำรุ่น 2 หลังยุติการชุมนุมจะบวชอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต 19 วัน โดยจะยุติชุมนุมก็ต่อเมื่อนายสุเทพเดินขึ้นโรงพักไปรับทราบข้อกล่าวหาสั่ง ฆ่าประชาชนแล้วเท่านั้น
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวว่า อธิบดีดีเอสไอเป็นหนึ่งในกรรมการ ศอฉ. จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะรับรายงานตัวเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาของนายสุเทพ การชุมนุมจะยุติเมื่อนายสุเทพไปมอบตัวที่กองปราบปรามเท่านั้น
ตำรวจ ยันยกเป็นคดีพิเศษหมดแล้ว
พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) กล่าวว่า คดีเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมถูกยกเป็นคดีพิเศษหมดแล้ว จึงเป็นเรื่องของดีเอสไอที่จะดำเนินการ
“แกนนำผู้ชุมนุมทราบดีว่าคดี ถูกโอนไปให้ดีเอสไอหมดแล้ว ดังนั้น นายสุเทพไม่จำเป็นต้องมารายงานตัวที่กองปราบปราม” พล.ต.ท.ไถงกล่าว
“เฉลิม” งงดีเอสไอตั้งแถวต้อนรับ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แปลกใจมากที่ข้าราชการของดีเอสไอออกมาตั้งแถวรอรับนายสุเทพ แยกไม่ออกเลยหรือว่านายสุเทพไปในฐานะอะไร ในฐานะรองนายกฯ ฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. หรือว่าผู้ต้องหา แต่ทราบว่ายังไม่มีการออกหมายเรียกหรือตั้งข้อกล่าวหา
“ไม่ว่านายสุ เทพจะไปในฐานะอะไรก็ไม่ควรต้องออกมาตั้งแถวรอต้อนรับ ผมอยากเตือนอธิบดีดีเอสไอว่าท่านเป็นพนักงานสอบสวนแต่กลับออกมานั่งแถลงข่าว บอกว่าคดีนั้นคดีนี้มีหลักฐานอย่างนั้นอย่างนี้ ระวังจะติดคุกเพราะเอาความลับสำนวนของราชการมาเปิดเผย” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว
“เสนาะ” ยืนยันนายกฯต้องลาออก
นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ย้ำว่า การยุบสภาไม่ใช่ทางออกของปัญหา ทางออกที่ดีคือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก เพราะอยู่ไปก็บริหารประเทศไม่ได้
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า อดีตนายกฯไม่เคยมอบหมายให้ใครเจรจาต่อรองเรื่องยุติความขัดแย้งแลกกับคดี ความต่างๆและการเดินทางกลับประเทศ
“นพดล” ย้ำ “แม้ว” ไม่เคยยื่นเงื่อนไข
“ความเคลื่อนไหวขณะนี้เป็นเรื่องของคนเสื้อ แดงไม่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวและไม่เคยยื่นเงื่อนไขใด” นายนพดลกล่าวและว่า คนในรัฐบาลและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยพยายามบิดเบือนข้อมูล ตลอดเวลาว่า พ.ต.ท.ทักษิณเกี่ยวข้อง อยู่เบื้องหลัง หรือว่าเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการเจรจาระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาล ทั้งที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวว่า ยังจำเป็นต้องคงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ก่อน เพราะต้องการส่งผู้ชุมนุมกลับบ้านด้วยความปลอดภัยและต้องเข้าตรวจพื้นที่ ชุมนุม เนื่องจากไม่รู้ว่าในพื้นที่มีการซุกอาวุธอะไรเอาไว้บ้าง
ครม. อนุมัติ 10 ล้านทำแผนปรองดอง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. อนุมัติเงินงบกลาง 10 ล้านบาทให้มูลนิธิพัฒนาไทเป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีสาธารณะเพื่อระดมความเห็น จากทุกภาคส่วน หาแนวทางแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความปรองดองแห่ง ชาติ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.-ก.ย. นี้ ซึ่งการดำเนินการจะแบ่งเป็น 2 ระดับคือ ระดับประเทศเป็นการบูรณาการในการวางกรอบการปฏิรูปประเทศไทยเชิงโครงสร้างทาง เศรษฐกิจและทางสังคม และระดับพื้นที่ภาคแต่ละจังหวัด โดยการระดมแนวคิดระดับประเทศจะทำ 2 ครั้ง ระดับภาคทำภาคละ 1-2 ครั้ง
ภท. เชื่อเลื่อนเลือกตั้งหลัง 14 พ.ย. ไม่นาน
นางศุภมาส อิศรภักดี รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงหลังการประชุมพรรคว่า จากการลงพื้นที่ของ ส.ส. และสมาชิกพรรคพบว่าประชาชนให้การตอบรับโรดแม็พ 5 ข้อของนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างดี พรรคจึงมีมติให้การสนับสนุนนโยบายของนายกรัฐมนตรีต่อไป และเรียกร้องให้เร่งดำเนินการตามแผนแม้ว่ากลุ่ม นปช. จะยังไม่ยุติการชุมนุมก็ตาม ส่วนการเลือกตั้งจะช้าหรือเร็วกว่าที่กำหนดไว้พรรคไม่ขอออกความเห็น แต่เชื่อว่าหากมีการเลื่อนก็คงเลือกตั้งหลังวันที่ 14 พ.ย. ไปไม่กี่วัน
“ที่ ประชุมได้กำชับให้ ส.ส. และผู้ที่จะลงสมัครทุกคนลงพื้นที่พบประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมความ พร้อมสำหรับการเลือกตั้ง และให้อธิบายถึงผลกระทบและความเสียหายที่เกิดจากการชุมนุมให้ประชาชนได้รับ ทราบด้วย ส่วนนโยบายการหาเสียงจะมีการปรับให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น” รองโฆษกพรรคภูมิใจไทยกล่าว
พท. ชงสภาตั้งกรรมการร่างโรดแม็พ
ที่ รัฐสภา นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย อภิปรายในที่ประชุมสภาเสนอให้นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ใช้อำนาจตั้งคณะกรรมการกำหนดขั้นตอนทำโรดแม็พสร้างความปรองดอง เพราะเห็นว่าหากปล่อยให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการเพียงลำพังอาจไม่ได้รับการยอม รับและไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้
“คณะกรรมการชุดนี้ควรมาจากรัฐสภา จัดทำรายละเอียดโรดแม็พให้นายกฯ มีรายละเอียด 3 ขั้นตอนคือ 1.รัฐสภาเป็นผู้เสนอโรดแม็พแทนรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญคือจะต้องให้ความขัดแย้งของสังคมยุติโดยเร็วที่สุด นำประเทศชาติเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และรัฐสภาจะต้องเป็นตัวกลางที่คุยกับทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งแกนนำคนเสื้อแดงและรัฐบาล 2.การยุบสภาและวันเลือกตั้งต้องกำหนดให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประเทศชาติพ้นจากภาวะความอึมครึม และ 3.ให้พัฒนาโรดแม็พเป็นสัญญาประชาคมโดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม” นายวิทยากล่าว
ด้าน นายชัยกล่าวว่า ขอปรึกษารัฐบาลและวุฒิสภาก่อนว่าจะเห็นชอบกับข้อเสนอนี้หรือไม่
**********************************************************************
สมัคร รับ “ข่าวสั้น SMS โลกวันนี้รายวัน” เดือนละ 30 บาท (ไม่รวม VAT7%)
สมัคร วันนี้ทดลองใช้งานฟรี 30 วัน
วิธีสมัคร (มือถือทุกระบบ  AIS, DTAC, TURE) เพียงกด *48998981001 โทรออก
หมายเหตุ : สอบถามรายละเอียดที่ 0-2422-8155, 0-2422-8158-59